ในญี่ปุ่นถ้าพูดถึงหน้าร้อนก็ต้องนึกถึง มัตสึริ (เทศกาล) และคงไม่มีเครื่องแต่งกายอะไรที่จะเหมาะกับเทศกาลไปมากกว่าชุดยูกาตะแล้ว ยูกาตะมีเนื้อผ้าที่เบากว่ากิโมโน (มักจะใช้ผ้าฝ้ายหรือใยสังเคราะห์) จึงเป็นชุดที่เหมาะสมที่สุดสำหรับฤดูร้อนในญี่ปุ่นที่ทั้งร้อนและชื้น
ประวัติความเป็นมาของยูกาตะ
ตัวอย่างแรกของชุดยูกาตะปรากฏขึ้นเมื่อประมาณ 1,200 ปีที่แล้ว และเคยถูกเรียกว่ายูกาตะบิระ ผู้คนเริ่มสวมยูกาตะเป็นชุดคลุมอาบน้ำ เพื่อซับเหงื่อและป้องกันผิวจากความร้อนขณะอบไอน้ำ จนถึงช่วงปลายยุคเอโดะ (1603 – 1867) จำนวนโรงอาบน้ำสาธารณะเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด วัฒนธรรมการสวมยูกาตะจึงแพร่หลายเป็นวงกว้างสู่คนทั่วไป โดยถูกสวมเป็นทั้งชุดหลังแช่น้ำ และชุดลำลองทั่วไป
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 วิถีชีวิตในญี่ปุ่นได้รับอิทธิพลจากตะวันตกมากยิ่งขึ้น ชุดยูกาตะจึงมีให้เห็นตามท้องถนนน้อยลง จะได้เห็นก็เฉพาะช่วงเทศกาลหรืองานดอกไม้ไฟในฤดูร้อน และตามเมืองออนเซ็น ซึ่งเรียวคังทั่วไปจะแจกชุดยูกาตะให้แขกทุกคน หลายคนก็สวมชุดยูกาตะเดิมตามถนนด้วย
CHIKUSEN ศิลปะที่หล่อหลอมโดยวัฒนธรรม
Chikusen เป็นร้านสำหรับใครที่กำลังมองหาชุดยูกาตะที่เป็นยิ่งกว่าผลงานศิลปะดั้งเดิม มองย้อนกลับไปเมื่อปี 1842 ในยุคเอโดะ Chikusen เริ่มต้นกิจการในย่านอาซากุสะ เมืองโตเกียว
คาบุกิ: ก้าวหนึ่งสู่งานฝีมือแบบดั้งเดิม
เซนโนะสุเกะ ผู้ก่อตั้ง Chikusen เริ่มต้นกิจการด้วยการทำยูกาตะที่มีเอกลักษณ์จากการย้อมผ้าเป็นลวดลาย ประกอบกับเบื้องหลังที่เจ้าตัวสนใจเกี่ยวกับละครเวทีและไฮกุ (กลอนแบบดั้งเดิมของญี่ปุ่น) และยังมีเพื่อนพ้องหลายคนเป็นนักแสดงคาบุกิ กวี และศิลปินหลากแขนง
ชุดยูกาตะที่เราเห็นทั่วไปจะมีลักษณะเรียบง่าย แต่ชุดยูกาตะที่มีเอกลักษณ์ของเซนโนะสุเกะดึงดูดความสนใจของนักแสดงคาบุกิ เป็นจุดเริ่มต้นให้นักแสดงคนนั้นขอให้เซนโนะสุเกะออกแบบเครื่องแต่งกายนักแสดงให้ สร้างความประทับใจให้กับผู้ชม จนชื่อของ Chikusen กลายเป็นที่รู้จักในเวลาไม่ช้า อ้างอิงจากหนังสือเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ในโตเกียว ชื่อ “Chikusen” มาจากการผสมผสานชื่อของผู้ก่อตั้ง และคำว่า chinchikurin ซึ่งเป็นคำเรียกคนที่มีลักษณะเตี้ย จึงนำคำว่า “chiku” มาผสมกับ “sen” จากชื่อตนเอง กลายเป็นชื่อ Chikusen
อาซากุสะ: จุดศูนย์รวมแห่งวัฒนธรรม
ในเมืองเอโดะ (ปัจจุบันคือโตเกียว) ผู้คนมักจะใช้จ่ายไปกับตลาดและโรงละคร รัฐบาลโชกุนโตกุกาวะจึงตัดสินใจย้าย 3 โรงละครคาบุกิที่ใหญ่ที่สุดมาอยู่ในอาซากุสะ เพื่อที่จะควบคุมและพัฒนาอุตสาหกรรมความบันเทิงได้สะดวกยิ่งขึ้น วัฒนธรรมเอโดะถูกหล่อหลอมโดยคาบุกิ ซึ่งเป็นความบันเทิงทั่วไปที่แพร่หลายในยุคนั้น นักแสดงคาบุกิจึงถือว่าเป็นคนนำเทรนด์เลยทีเดียว ผู้ชมที่มาเห็นจะชอบใจกับเครื่องแต่งกายและอยากใส่บ้างเพื่อตามแฟชั่นให้ทัน ด้วยเหตุนี้ชุดยูกาตะของ Chikusen จึงเป็นที่นิยมในหมู่คนทั่วไป
สายสัมพันธ์กับสาขาหลักที่ Nihombashi Mitsukoshi
อาซากุสะเปลี่ยนจากย่านธุรกิจกลายเป็นย่านความบันเทิง ในขณะเดียวกันเมื่อห้างมาเปิดที่นิฮอมบาชิ ที่นี่จึงเริ่มกลายเป็นย่านธุรกิจแทน ด้วยความที่ Chikusen มีความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นกับห้าง ประธานจึงแนะนำให้ย้ายมายังนิฮอมบาชิเช่นกัน ตอนนั้นชุดยูกาตะเป็นที่นิยมถึงขีดสุด จน Chikusen ต้องนำสินค้าไปส่งที่ Mitsukoshi ถึง 3 รอบต่อวัน และเนื่องจากสินค้าต้องขนส่งทางรถเข็นเท่านั้น ถ้าย้ายมาสถานที่ใหม่ก็จะประหยัดเวลาได้อีกเยอะ หลังจากนั้นไม่นาน Chikusen จึงย้ายมายังนิฮอมบาชิหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นสาขาหลักที่อยู่ที่นี่จนถึงปัจจุบัน
วิธีการหลักสำหรับย้อมผ้า
Nagaita Chugata 長板中型
ในยุคเอโดะ เทคนิคการย้อมผ้ายูกาตะแบบพิเศษถูกคิดค้นขึ้น และมีชื่อว่า Nagaita Chugata ขั้นแรก ผ้ายาว 12 เมตรจะถูกผูกกับกระดานไม้สนยาว 6.5 เมตร แผ่นลายฉลุที่ยาวประมาณ 40 ซม.จะวางทับไปบนผืนผ้า จากนั้นจะทาด้วยกาวพิเศษที่เรียกว่า Bosen Nori สำหรับส่วนที่จะเว้นไว้จากการย้อมผ้า เพื่อที่จะให้ลายเหมือนกันก็ต้องทากาวแบบเดิมให้ผ้าทั้งสองด้าน ส่วนที่ยากที่สุดคือการวางแผ่นลายฉลุให้เท่ากับอีกด้าน เพื่อที่จะสร้างลายที่ไร้ที่ตินั่นเอง
Nagaita Chugata 小紋中型
อีกวิธีการหนึ่งในการย้อมผ้ามีชื่อว่า Komon Chugata หรือ Edo Komon ซึ่งเป็นวิธีการย้อมผ้าดั้งเดิมที่คิดค้นโดย Chikusen ลายแพทเทิร์นจะถูกสลักบนแผ่นลายฉลุด้วยใบมีดรูปครึ่งวงกลม ซึ่งทำให้เกิดลายอันซับซ้อน ประกอบด้วยลายจุดขนาดเล็กและรายละเอียดอื่นๆ เทคนิคนี้จะมีความยากเป็นพิเศษ เพราะต้องทำลายที่ซับซ้อนให้เหมือนกันทั้งสองด้านของผ้า ดูไกลๆ จะเห็นเหมือนผ้าไม่มีลายอะไรเลย แต่ถ้ามองใกล้ๆ จะเห็นลายที่เรียบง่ายแต่เต็มไปด้วยรายละเอียดพิถีพิถันอันสง่างาม แต่การย้อมด้วยวิธีนี้ทำได้เพียงผ้า 2 ม้วนต่อวันเท่านั้น ช่างฝีมือในยุคเอโดะส่วนใหญ่จึงไม่สามารถผลิตชุดยูกาตะให้พอจำนวนประชากรในโตเกียวได้
Chusen 注染
ช่วงต้นยุคเมจิ (1868 – 1912) เกิดวิธีการย้อมผ้าแบบใหม่ขึ้นชื่อว่า Chusen ซึ่งทำให้สามารถผลิตผ้าได้จำนวนมากยิ่งขึ้น ลายแพทเทิร์นและขั้นตอนยังคงเหมือนเดิม แต่ความยาวของแผ่นลายฉลุจะเพิ่มขึ้นจาก 40 ซม.เป็น 90 ซม. ทากาวลงบนผ้ายาว 12 เมตร พับครึ่ง หลังจากนั้นผ้าจะถูกวางบนโต๊ะสำหรับย้อมผ้า และจะเทสีย้อมผ้าลงไปด้วยบัวรดน้ำ ด้วยวิธีการย้อมแบบใหม่นี้ทำให้ช่างฝีมือสามารถผลิตผ้าได้มากถึง 100 ม้วนต่อวัน
ดีไซน์แบบดั้งเดิมผสมกลิ่นอายโมเดิร์น
เอกลักษณ์ของ Chikusen จะเห็นได้จากลายผ้าอันเต็มไปด้วยประวัติศาสตร์ ดีไซเนอร์จะเลือกใช้แผ่นลายฉลุที่เหลือจากสมัยเอโดะ นำมาแต่งเติมและประยุกต์ให้เข้ากับแฟชั่นร่วมสมัย เทียบกับภูมิภาคทางตะวันตกแล้ว ลายแบบดั้งเดิมของเอโดะถือว่าเรียบง่ายและเข้าถึงได้ทุกเพศทุกวัย ลายที่เห็นได้ทั่วไปจะมีทั้ง ผีเสื้อ ต้นไผ่ ดอกซากุระ ดอกไฮเดรนเยีย คลื่น และดอกลิลลี่ ปัจจุบัน Chikusen เป็นร้านเดียวที่ยังใช้เทคนิคการย้อมผ้าจากยุคเอโดะ
ไม่ว่าอะไรที่นิยมในเอโดะมักจะแพร่หลายไปยังพื้นที่อื่นในญี่ปุ่น ทำให้เมืองนี้กลายเป็นตัวกำหนดเทรนด์ ทั้งในแง่ของวัฒนธรรมและแฟชั่น ชุดยูกาตะ “สไตล์เอโดะ” ที่มีสีน้ำเงินเข้มตัดกับสีขาวสว่างก็เป็นที่ต้องการอย่างมาก อ้างอิงจากหนังสือที่ถูกเขียนในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ก็เขียนไว้ว่าชุดยูกาตะเป็นหนึ่งในสินค้ายอดนิยมของเอโดะ และยังเป็นของฝากยอดนิยมที่ไม่ว่าใครก็อยากได้มาครอง
CHIKUSEN
เวลาทำการ: 9:00 – 17:00 น.
ปิดทำการ: วันเสาร์ วันอาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ (เปิดวันเสาร์ในเดือนเม.ย. – ก.ค.)
ที่อยู่: 2-3 Kofuna-cho, Nihombashi, Chuo-ku, Tokyo
ประวัติผู้เขียน
Tabea Greuner
อาศัยและทำงานในญี่ปุ่นตั้งแต่ปี 2015 ตื่นเต้นเสมอเมื่อเจอสถานที่ใหม่ๆ หลงใหลในการถ่ายภาพ รักธรรมชาติ และเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านแฟชั่นของญี่ปุ่น บทความอื่นๆ โดยนักเขียนคนนี้ | เกี่ยวกับวัทเทนชั่นนินจา