วัดรุริโคอิน ในจ.เกียวโต ©Suganu0405 Creative Commons License (Attribution 4.0 International) *
เมื่อท้องฟ้าสีทึบเปลี่ยนเป็นสีฟ้าสดใส (อากิบาเระ) เหล่าพืชพันธุ์ถูกเก็บเกี่ยว (มิโนริ โนะ อากิ) และความอยากอาหารกลับมาอีกครั้ง (โชคุโยคุ โนะ อากิ) ญี่ปุ่นก็พร้อมแล้วที่จะต้อนรับผู้คนในช่วงวันหยุด และกิจกรรมประจำฤดูกาลต่างๆที่จะพาคนออกไปสูดอากาศกลางแจ้ง นึกภาพวันหยุดสุดสัปดาห์ที่เต็มไปด้วยวันกีฬาสี งานโรงเรียน ตลาดนัดการกุศล ทริปไปเยี่ยมปู่ย่าตายายที่บ้านเกิด หรือการแต่งชุดกิโมโนให้เด็กๆ เพื่อเฉลิมฉลองในวันพิเศษ
บ่อย้ำคากามิอิเคะ สะท้อนภาพภูเขาโทกาคุชิ ในโทกาคุชิ จ.นากาโนะ ©Koichi_Hayakawa Creative Commons License (Attribution 4.0 International)
วัดคิโยมิซึเดระ ในจ.เกียวโต ©taka14 Creative Commons License (Attribution 4.0 International)
คราวนี้เรามาเจาะลึกกับวัฒนธรรมการชมใบไม้เปลี่ยนสีที่มีมาแต่เนิ่นนานกันบ้าง “โมมิจิการิ” หรือที่แปลตรงตัวว่า “เก็บใบไม้แดง” ในความเป็นจริงไม่ได้หมายถึงให้เราเก็บใบไม้แดงกลับบ้านแต่อย่างใด แต่หมายถึง “การตามล่า/ดื่มด่ำกับสีสันแห่งฤดูใบไม้ร่วง” ต่างหาก ในญี่ปุ่นเราจะคุ้นเคยกับฮานามิ หรือหมายถึงการชมดอกซากุระในฤดูใบไม้ผลิ เป็นฤดูกาลที่ทุกคนจะออกจากบ้านไปนั่งปิกนิกกันใต้ต้นซากุระ สวนซากุระมักจะถูกออกแบบมาแล้วและปลูกขึ้นรอบๆโรงเรียน สวนสาธารณะ หรือในพื้นที่สาธารณะต่างๆ ส่วนโมมิจิการิจะต่างออกไป วิธีในการชมที่ดีที่สุดคือการเดินทางออกนอกเมือง ขึ้นไปยังภูเขาเพื่อที่จะได้เห็นใบไม้เปลี่ยนสีแบบเต็มๆ นี่อาจจะเป็นเหตุผลที่เรียกการชมใบไม้เปลี่ยนสีว่า “เก็บ” ก็เป็นได้ – เพราะการไปชมใบไม้เปลี่ยนสีอาจใช้เวลาค่อนข้างนาน และอาจต้องมีรองเท้าที่แข็งแรงสำหรับการเดินเยอะๆ กระติกเก็บความร้อนสำหรับชาอุ่นๆ รวมถึงข้าวกล่องเบนโตะที่อาจจะอัดแน่นด้วยข้าวปั้น ผักดอง และไก่ทอดคาราอาเกะไว้ในกระเป๋าเป้ บรรยากาศในการชมใบไม้เปลี่ยนสีมักจะเงียบสงบมากกว่าคึกคัก ฉะนั้นแม้การไปเดินชมคนเดียวก็ไม่ใช่เรื่องแปลก
โมมิจิ เป็นชื่อของต้นเมเปิลญี่ปุ่นและใบอันงดงามของมัน ต้นไม้หลากชนิดจะเปลี่ยนสีในฤดูใบไม้ร่วง แต่ก็ไม่มีชนิดไหนที่งดงามเท่าโมมิจิ เพราะใบโมมิจิจะเปลี่ยนผ่านหลายเฉดสีจนไปสุดที่สีแดงสด ชื่อดั้งเดิมของมันคือต้นคาเอเดะ และก็ยังคงใช้คำนี้อยู่ในปัจจุบันเช่นเดียวกัน แต่เมื่อใบไม้แดงกลายเป็นสัญลักษณ์แห่งฤดูใบไม้ร่วง จึงเริ่มมีการเขียนโดยใช้ตัวอักษรจีน (紅葉) และอ่านแบบจีนว่า โคโย ซึ่งแปลว่า “ใบไม้เปลี่ยนสีในฤดูใบไม้ร่วง” ซึ่งอ่านแบบญี่ปุ่นจะออกเสียงว่า โมมิจิ นั่นเอง จนท้ายที่สุดโมมิจิก็กลายเป็นคำที่ใช้โดยทั่วไปเพื่อสื่อถึงต้นเมเปิลในทุกฤดูกาล โมมิจิเป็นส่วนหนึ่งในวัฒนธรรมที่คนญี่ปุ่นรักใคร่มาเนิ่นนาน เราจะสามารถพบโมมิจิได้ในศิลปะญี่ปุ่นทุกแขนง ไม่ว่าจะแบบดั้งเดิมหรือแบบโมเดิร์น และเป็นคำที่สื่อถึงฤดูกาลในบทกวีด้วย
“ชมใบไม้เปลี่ยนสี่ที่วัดไคอันจิ” Katsukawa Shuncho, ศตวรรษที่ 18 (สมัยเอโดะ) ที่มา: ColBase (https://colbase.nich.go.jp)
วัฒนธรรมการชมสีสันแห่งฤดูใบไม้ร่วงมีมาตั้งแต่ก่อนสมัยเฮอัน (795-1185) ซึ่งเหล่าขุนนางในยามว่างก็ไม่ได้ทำอะไรมากไปกว่าการ “เก็บ” ใบไม้เปลี่ยนสี พลางจัดงานเลี้ยงและเขียนบทกวีไปด้วย เหตุการณ์เหล่านี้จะพบได้ใน “มันโยชู” หนังสือรวมกวีนิพนธ์ที่เก่าแก่ที่สุดของญี่ปุ่นในศตวรรษที่ 8 และ “เรื่องเล่าของเก็นจิ” นวนิยายเลื่องชื่อในศตวรรษที่ 11 ที่มีเรื่องราวเกี่ยวกับชนชั้นสูงในสมัยเฮอัน เช่นเดียวกันกับประเพณียอดนิยมอื่นๆ โมมิจิการิเริ่มกระจายออกนอกขอบเขตของชนชั้นขุนนาง และท้ายที่สุดก็แพร่กระจายสู่ชนชั้นกลางที่กำลังขยายตัวในสมัยเอโดะ (1603-1868)
หนังสือรวมกวีนิพนธ์ “มันโยชู”, ฉบับเก็นเรียะคุ, สมบัติแห่งชาติ, ศตวรรษที่ 11 (สมัยเฮอัน) ที่มา: ColBase (https://colbase.nich.go.jp)
Comments