คำว่า ชิจิโกะซัง ในภาษาญี่ปุ่นหมายถึงเจ็ด-ห้า-สาม เป็นเทศกาลเพื่อฉลองเกี่ยวกับสุขภาพและพลานามัยสมบูรณ์ของเด็กๆ โดยมีต้นกำเนิดในยุคเฮอัน (ค.ศ. 794-1185) ช่วงนั้นอัตราการตายของเด็กสูงอย่างยิ่งยวด ในสมัยนั้นจึงถือว่าเด็กอายุน้อยกว่าเจ็ดขวบเป็น “ลูกของเทพเจ้า”เพราะชีวิตของพวกเขาอยู่ในมือของเทพเจ้าทั้งหลาย ผู้คนจึงจัดงานฉลองนี้เป็นพิธีกรรมเปลี่ยนผ่านสำหรับเด็กที่เติบโตจนถึงช่วงอายุหนึ่ง โดยปกติแล้วจะอยู่ในช่วงอายุสามถึงเจ็ดปี
ผู้คนเริ่มฉลองเทศกาลชิจิโกะซังในวันที่ 15 พฤศจิกายนเมื่อเด็กอายุครบสามปี (สำหรับทั้งเด็กชายและเด็กหญิง) ห้าปี (เด็กชาย) และเจ็ดปี (เด็กหญิง) มาตั้งแต่ประมาณศตวรรษที่ 19 หากอ้างอิงจากปฏิทินจันทรคติแล้ว วันที่ 15 เป็น “วันที่ภูตผีปีศาจไม่ออกมาเพ่นพ่าน” จึงถือเป็นวันนำโชคสำหรับทุกงานเทศกาล เดิมที่มีผู้คนมากมายฉลองฤดูเก็บเกี่ยวในช่วงเวลานี้ของปีอยู่แล้ว จึงยินดีที่จะเพิ่มความหมายเชิงมงคลอีกหนึ่งอย่างในวาระโอกาสดังกล่าว
ในสมัยนั้นกลางเดือนพฤศจิกายนเป็นช่วงเวลาที่การเฉลิมฉลองในฤดูใบไม้ร่วงใกล้จะจบลง อุณหภูมิกำลังดีและอากาศปลอดโปร่ง ในยุคโบราณครอบครัวต่างๆ จะฉลองเทศกาลชิจิโกะซังกันตอนเย็นพระจันทร์เต็มดวงส่องแสงกระจ่างบนทางเดินช่วยสร้างความสบายใจและความรู้สึกปลอดภัยให้กับผู้เดินทางไปยังศาลเจ้า ขณะที่บรรยากาศของงานเฉลิมฉลองกำลังครื้นเครง ดนตรีและการระบำแบบชินโตกำลังคึกคักเต็มที่ พวกเด็กๆ จะได้รับการชำระล้างด้วย คางุระสึซึ (กระดิ่งที่ใช้ในระบำชินโต) และได้รับจิโตะเสะอาเมะซึ่งเป็นลูกกวาดแท่งเพื่อให้มีชีวิตยืนยาว
แม้ทุกวันนี้เทศกาลชิจิโกะซังจะมีการเฉลิมฉลองในช่วงกลางวัน ประวัติศาสตร์ก็เผยให้เห็นว่าเทศกาลนี้เป็นรูปแบบหนึ่งของเทศกาลไหว้พระจันทร์ซึ่งหยั่งรากลึกในความเชื่อเรื่องการบูชาบรรพบุรุษ การเฉลิมฉลองที่มีอายุหลายร้อยศตวรรษไม่เพียงสะท้อนถึงความปรารถนาจากใจจริงของพ่อแม่ปู่ย่าตายายที่ต้องการปกป้องคุ้มครองลูกหลาน แต่ยังหมายรวมถึงความปรารถนาในลักษณะเดียวกันของบรรพบุรุษในอดีตที่ห่างไกลอีกด้วย

ผู้เขียน: ริเอโกะ อิโดะ

จบการศึกษาจาก Kokugakuin University เป็นนักวิจัยเกี่ยวกับขนบธรรมเนียมและภูมิปัญญาญี่ปุ่นสมัยโบราณ ทำการวิเคราะห์ทางเทคนิคเกี่ยวกับข้อค้นพบต่างๆ เพื่อปรับใช้กับวิถีชีวิตยุคใหม่ ปัจจุบันเป็นอาจารย์สอนอยู่ที่ Tama Art University
Comments