ชาวญี่ปุ่นเชื่อว่า ยิ่งขนมหวานได้รับการทำด้วยความประณีตละเอียดละออเท่าไร พรที่อธิษฐานไว้ก็ยิ่งมีโอกาสสมความปรารถนามากขึ้นเพียงนั้น แนวความคิดนี้สะท้อนถึงการที่ชาวญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับความงดงามของธรรมชาติได้เป็นอย่างดี ประเพณีดั้งเดิมนี้ถูกแนะนำให้เป็นที่รู้จักครั้งแรกในราชสำนัก ภายหลังยุคมุโระมะจิ 
ราวช่วงก่อนยุคเมจิ มีธรรมเนียมหนึ่งที่ชาวญี่ปุ่นนิยมปฏิบัติกันในวันสำคัญที่เรียกว่า “Kashou” ในตำนานกล่าวถึงที่มาของธรรมเนียมปฏิบัตินี้ว่า เกิดจากเหตุการณ์แพร่ระบาดของโรคภัยไข้เจ็บในช่วง ค.ศ. 848 หรือช่วงยุคเฮอัน จักรพรรดินิมเมียวจึงได้กำหนดให้วันที่ 16 มิถุนายน เป็นวัน “Kashou” โดยในวันดังกล่าว ชาวญี่ปุ่นจะมีพิธีรับประทานขนมหวานหน้าตาสวยงามหลากสีสัน จำนวน 16 ชิ้น ที่เชื่อว่าเมื่อรับประทานแล้วจะช่วยให้สุขภาพแข็งแรง   
แต่ในขณะเดียวกัน ก็มีอีกหลายความเห็นซึ่งตีความเกี่ยวกับที่มาของตัวเลข 16 เอาไว้แตกต่างกัน บ้างก็ว่า หากนับเอาวันที่ 16 มิถุนายน ตามปฏิทินทางจันทรคติแบบโบราณ จะตรงกับวันพระจันทร์เต็มดวงพอดี หรือบางมุมมองก็ชี้ให้เห็นว่า ที่ถือเอาวันที่ 16 ตามเดือนจันทรคตินั้น เพราะตรงกับช่วงเวลาที่อากาศร้อนที่สุด อันส่งผลให้ร่างกายของผู้คนอ่อนแอและล้มป่วยได้ง่าย
ในยุคที่ผู้คนส่วนใหญ่มีความเชื่อว่าโลกมีความเกี่ยวพันกับจักรวาลอื่นๆ ทำให้การสวดภาวนาขอพรหรือทำพิธีกรรมในค่ำคืนที่แสงจันทร์สว่างไสวอย่างคืนพระจันทร์เต็มดวงได้ถือกำเนิดขึ้น ในพิธีนี้ก็เช่นเดียวกัน โดยนอกจากนี้ยังมีการนำขนมหวานหน้าตาน่ารับประทาน 16 ชิ้นมาบูชา ด้วยความเชื่อที่ว่าจะสามารถขับไล่สิ่งชั่วร้ายที่จะเข้ามายังโลกผ่านทางทิศทั้ง 16 รวมถึงเชื่อว่าพิธีดังกล่าวจะสามารถบรรเทาความชั่วร้ายของวิญญาณที่มาจากโลกอื่นได้     
 ในสมัยญี่ปุ่นโบราณ ธรรมเนียมประเพณีในลักษณะนี้มีการปฏิบัติกันอย่างแพร่หลาย ในขณะที่ผู้คนยังคงเชื่อว่าอาการเจ็บป่วยของร่างกาย และภัยพิบัติต่างๆ นั้นมีสาเหตุมาจากคำสาปแช่งของวิญญาณร้าย

ผู้เขียน: ริเอโกะ อิโดะ

จบการศึกษาจาก Kokugakuin University เป็นนักวิจัยเกี่ยวกับขนบธรรมเนียมและภูมิปัญญาญี่ปุ่นสมัยโบราณ ทำการวิเคราะห์ทางเทคนิคเกี่ยวกับข้อค้นพบต่างๆ เพื่อปรับใช้กับวิถีชีวิตยุคใหม่ ปัจจุบันเป็นอาจารย์สอนอยู่ที่ Tama Art University
Comments