นอกจากจะถูกนำไปร้องในหลากหลายภาษาแล้ว เพลงญี่ปุ่นยังโดดเด่นในอีกหลายแง่มุม ซาวด์เพลงป๊อปสไตล์ญี่ปุ่นดึงดูดให้มีแฟนเพลงจากต่างประเทศมากมาย หนึ่งในแนวเพลงที่ความนิยมแพร่กระจายไปทั่วโลกในช่วงปีหลังคือ “Japanese City Pop” หรือ “ซิตี้ป๊อป” ซิตี้ป๊อปเป็นแนวเพลงหนึ่งของญี่ปุ่นที่ประกอบด้วยซาวด์ในปลายยุค 70s จนถึง 80s เป็นหลัก ยุคนั้นซิตี้ป๊อปในญี่ปุ่นจัดอยู่ในประเภท “แนวเพลงใหม่” ที่ได้รับอิทธิพลจากฝั่งตะวันตก น่าสนใจที่ปัจจุบันเรากลับรู้สึกว่าซิตี้ป๊อปกลายเป็นเอกลักษณ์ของญี่ปุ่นไปแล้ว

“ซิตี้ป๊อป” คืออะไร?

ซิตี้ป๊อปเป็นหนึ่งในแนวเพลงที่หาคำจำกัดความได้ยากมาก แต่ฟังแล้วก็จะรู้ได้ทันทีว่าคือซิตี้ป๊อป คำหนึ่งที่อธิบายได้ดีที่สุดน่าจะเป็นคำว่า “เมือง” จินตนาการว่าตัวเองกำลังเดินทอดน่องตามท้องถนนที่มีผู้คนเดินขวักไขว่ภายใต้แสงไฟนีออนในโตเกียว พร้อมวอล์คแมนเครื่องเก่าคู่ใจที่เกือบจะกลบเสียงรถยนต์ที่ผ่านไปมาไว้ไม่อยู่ แทรกด้วยเสียงหัวเราะลั่นจากมนุษย์เงินเดือนที่เมาแอ๋อยู่แถวนั้น นี่แหละคือภาพที่เราจะได้เห็นเมื่อฟังเพลงซิตี้ป๊อป
ซาวด์ของดนตรีซิตี้ป๊อปได้อิทธิพลจากแนวเพลงซอฟต์ร็อค บูกี้ แจ๊ซ และฟังค์ของอเมริกา เพลงซิตี้ป๊อปอาจเป็นได้ทั้งเพลงที่ฉูดฉาดกับจังหวะสนุกสนาน หรือเพลงที่เรียบง่ายแต่ประกอบด้วยเสียงร้องอันเต็มไปด้วยอารมณ์ ด้วยความที่แนวเพลงนี้จำกัดความไว้กว้างๆ เพียงแต่บรรจุอารมณ์ความรู้สึกเอาไว้ ไม่ว่าจะเป็นทำนองครื้นเครงที่เต็มไปด้วยเสียงรีเวิร์บและเสียงซินธ์ หรือเพลงจังหวะหนักๆ ซิตี้ป๊อปเลือกจำกัดความด้วยตัวมันเองมากกว่าให้คนอื่นมาตัดสิน ด้วยกลิ่นอายความกบฏนี้ทำให้แตกต่างจากเพลงญี่ปุ่นอื่นๆในยุคนั้นซึ่งส่วนมากจะเติบโตจากเพลงพื้นบ้านญี่ปุ่น หรือที่เรียกว่าเองกะ

“ซิตี้ป๊อป” เกิดขึ้นได้อย่างไร?

เมื่อปลายยุค 70s ถึง 80s เศรษฐกิจในญี่ปุ่นเฟื่องฟูมาก ความสำราญใจและความมั่นใจในยุคสมัยจึงสะท้อนออกมาในบทเพลง ยิ่งเสริมให้คนเมืองเดินไปตามถนนในโตเกียวอย่างมีชีวิตชีวา และด้วยเม็ดเงินที่ไหลเวียนจำนวนมาก ค่ายเพลงทั้งหลายจึงมีความกล้าท้าทายมากกว่าเก่า ศิลปินในยุคนั้นที่กำลังทดลองทำเพลงแนวใหม่นี้ อันเป็นส่วนผสมของเพลงป๊อป แจ๊ซ และอาร์แอนด์บีที่ได้รับอิทธิพลจากตะวันตกจึงมีโอกาสมากยิ่งขึ้น
เห็นได้ชัดว่าความเฟื่องฟูของเทคโนโลยีในยุคนั้นก็มีส่วนในซาวด์ของดนตรีซิตี้ป๊อปด้วย ความสามารถของเครื่องดนตรีอิเล็กทรอนิกส์อย่างซินธิไซเซอร์รุ่น Casio CZ-101, Yamaha CS-80 หรือกลองไฟฟ้า Roland TR-808 เป็นตัวปลดล็อคให้เกิดแรงบันดาลใจและซาวด์อันแปลกใหม่

แรงดึงดูดครั้งใหม่ของซิตี้ป๊อป

หลังจากยุค 80s ความนิยมในดนตรีซิตี้ป๊อปไม่ได้เดินทางต่อสู่ดนตรียุคสมัยต่อไป ถึงอย่างนั้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คนยุคใหม่ก็ถูกดึงดูดสู่ดนตรีซิตี้ป๊อปอีกครั้ง การฟื้นคืนชีพของซิตี้ป๊อปครั้งนี้ ส่วนหนึ่งเกิดจากแฟนเพลงต่างประเทศที่ค้นพบแนวเพลงนี้เข้า ยิ่งในยุคดิจิตัลอย่างปัจจุบัน การแชร์เพลงผ่านทางออนไลน์กลายเป็นเรื่องง่ายดาย ในช่วงปี 2010 ทั้งบล็อกและเว็บไซต์เกี่ยวกับดนตรีต่างเผยแพร่เรื่องราวของดนตรีซิตี้ป๊อป เนื่องจากมีผลงานของศิลปินชื่อดังในยุคก่อนถูกนำมาปล่อยใหม่อีกครั้ง
เพลงแรกที่หลายคนต้องนึกถึงคงหนีไม่พ้น “Plastic Love” ในอัลบั้ม “Variety” ของ มาริยะ ทาเคอุจิ (Mariya Takeuchi) ที่โด่งดังไปทั่วอินเตอร์เน็ต พบเห็นได้บ่อยครั้งใน YouTube รวมถึงในประเทศไทยเองเช่นกัน ความนิยมจากผู้ฟังหน้าใหม่ที่เพิ่มขึ้นอย่างพรั่งพรูนำไปสู่การเกิดของแนวเพลงย่อยมากมาย หนึ่งในนั้นคือ “เวเปอร์เวฟ” ที่หยิบตัวอย่างจากเพลงซิตี้ป๊อปดั้งเดิมมาปรับเปลี่ยนใหม่พร้อมกับภาพลักษณ์แบบเรโทร อย่างการทำเพลงให้ช้าลงและเพิ่มเอฟเฟกต์ Lo-Fi ลงไป

อาณาจักรซิตี้ป๊อปของ มาริยะ ทาเคอุจิ และ ทัตสึโระ ยามาชิตะ

ตามที่กล่าวไปข้างต้น มาริยะ ทาเคอุจิ เป็นหนึ่งในศิลปินซิตี้ป๊อปที่โด่งดังมากที่สุด โดยเฉพาะในช่วงที่ซิตี้ป๊อปฟื้นคืนชีพขึ้นมาอีกครั้งในช่วงปีที่ผ่านมานี้ แต่ในยุคก่อนเธอก็ประสบความสำเร็จอย่างล้นหลามเช่นกัน มาริยะ ทาเคอุจิ เป็นหนึ่งในศิลปินที่มียอดขายมากที่สุดในญี่ปุ่น โดยขายแผ่นเสียงได้กว่า 16 ล้านแผ่นเลยทีเดียว
ถ้าเปรียบมาริยะ ทาเคอุจิเป็นราชินีแห่งเพลงซิตี้ป๊อป ทัตสึโระ ยามาชิตะ (Tatsuro Yamashita) ก็คงเป็นราชา การเปรียบเทียบนี้ฟังดูเข้าท่ามากยิ่งขึ้นอีกเพราะทั้งคู่แต่งงานกันด้วย ทั้งสองปกครองอาณาจักรซิตี้ป๊อปในยุคนั้นได้อย่างสง่างาม ในปัจจุบันยังคงทำงานโปรดิวซ์ด้านดนตรี ในยุค 70s เพลงชิ้นเอกส่วนใหญ่ของทัตสึโระโปรดิวซ์ด้วยตัวเอง ทุกอัลบั้มของทัตสึโระล้วนควรค่าแก่การฟังทั้งนั้น แต่คงต้องเป็นเพลง “Christmas Eve” ของทัตสึโระที่เปรียบเหมือน “Plastic Love” ของมาริยะ จากการเป็นเพลงที่รู้จักกันเป็นวงกว้างมากที่สุด เช่นเดียวกับ “All I Want for Christmas Is you” ของมารายห์ แครี เพลงนี้ของทัตสึโระยังคงได้ยินตามคลื่นวิทยุตลอดฤดูหนาว

ตามล่าแผ่นเสียงซิตี้ป๊อปในโตเกียวได้ที่ไหน?

ในโตเกียวมีร้านแผ่นเสียงมากมายให้แฟนเพลงซิตี้ป๊อปได้ตามล่าแผ่นเสียงแบบดั้งเดิม หนึ่งในร้านแผ่นเสียงที่ใหญ่ที่สุดและมีสาขาหลายแห่งคือ Disk Union มีสาขาที่อิเคะบุคุโระ ชินจูกุ ชิบุยะ และอีกมากมาย แต่ละแห่งอาจเน้นไปที่แนวเพลงแตกต่างกันไป รวมถึงระดับความหายากของแผ่นเสียงด้วย
หรือถ้าอยากหาแหล่งที่ทันสมัยกว่านั้น ชิบุยะและชิโมะคิตะซาวะก็เป็นขุมทรัพย์อันยอดเยี่ยม ไปดูกันว่ามีร้านไหนบ้างที่ทั้งบรรยากาศดีและเต็มไปด้วยแผ่นเสียงที่คัดสรรมาแล้ว

Lighthouse Records (ชิบุยะ)

ร้านแผ่นเสียงโดยอดีตดีเจ Lighthouse Records มีแผ่นเสียงที่คัดมาแล้วอย่างดีให้เลือกสรร เป็นร้านที่เหล่าดีเจในพื้นที่ชอบมาคุ้ยหาแผ่นเสียงใหม่ๆเพื่อเพิ่มในคอลเลคชั่น ร้านอยู่ใกล้กับสถานีรถไฟ เดินทางมาสะดวกสบายและยังได้ชมบรรยากาศเมืองด้วย ร้านนี้เน้นขายแผ่นเสียงแนวเฮาส์ เทคโน และดิสโก้ เพราะฉะนั้นอาจจะยากหน่อยสำหรับแผ่นเพลงหายากของศิลปินซิตี้ป๊อป แต่อยากให้ลองมาคุ้ยดู ถ้าโชคดีอาจจะเจอก็ได้นะ
Lighthouse Records ライトハウスレコード
ที่อยู่: 2 Chome-9-2 Dogenzaka, Shibuya, Tokyo
เวลาทำการ: 13:00 – 20:00 น.
การเดินทาง: เดิน 1 นาทีจากสถานี Shibuya
เว็บไซต์: https://lighthouserecords.jp

Manhattan Records (ชิบุยะ)

หนึ่งในร้านแผ่นเสียงที่เก่าแก่ที่สุดในย่าน มีอายุมายาวนานกว่า 30 ปี และด้วยความอยู่มานานจึงสะสมของดีไว้มากมาย จากชื่อก็คงเดาได้ว่าแผ่นเสียงในร้านส่วนใหญ่เป็นของศิลปินอเมริกาทั้งแนวฮิปฮอปและอาร์แอนด์บี แต่ถึงอย่างนั้นก็มีของศิลปินญี่ปุ่นวางอยู่บนชั้นบ้างเหมือนกัน ที่นี่เรียกได้ว่าเป็นร้านแผ่นเสียงอันเป็นแลนด์มาร์คที่ห้ามพลาด และให้บรรยากาศเอกลักษณ์ยากที่จะเทียบ ลองไปตามล่าหาแผ่นเสียงที่นี่ดู เผื่อจะเจอแผ่นเสียงซิตี้ป๊อปที่คุณโปรดปราน
Manhattan Records マンハッタンレコード
ที่อยู่: Mokusen Bldg. 10-1 Udagawacho, Shibuya, Tokyo
เวลาทำการ: 12:00 – 21:00 น.
การเดินทาง: เดิน 9 นาทีจากสถานี Shibuya
เว็บไซต์: https://manhattanrecords.jp

JET SET (ชิโมะคิตะซาวะ)

ชิโมะคิตะซาวะเป็นย่านสุดชิคที่อยู่ใกล้กับชิบุยะ JET SET มีแต่แผ่นเสียงหายากหรือแนวอัลเทอร์เนทีฟอัดแน่นอยู่เต็มชั้น และยังเป็นที่รู้จักเพราะเป็นร้านที่คอยสนับสนุนศิลปินใต้ดินด้วย ที่นี่คุณจะได้พบกับแผ่นเสียงหลากหลายแนว ทั้งเก่าและใหม่ จนหลายคนยกให้ที่นี่เป็นหนึ่งในร้านที่ดีที่สุดในโตเกียวเลยทีเดียว
JET SET ジェットセット
ที่อยู่: 201 Yanagawa Bldg. 2Chome-33-12, Kitazawa, Setagaya, Tokyo
เวลาทำการ: 13:00 – 20:00 น.
การเดินทาง: เดิน 4 นาทีจากสถานี Shimokitazawa (ทางออก North Exit)

CITY COUNTRY CITY (ชิโมะคิตะซาวะ)

ร้านแผ่นเสียงเล็กๆ ที่เปี่ยมไปด้วยเสน่ห์ แม้ขนาดจะไม่ใหญ่แต่ก็พอให้เราได้ฟังเพลงเพราะๆพลางค้นหาแผ่นเสียงที่ถูกใจบนชั้นไปด้วย ส่วนหนึ่งของร้านเปิดเป็นคาเฟ่จึงสามารถใช้เวลาได้อย่างเต็มที่ บรรยากาศภายในร้านบวกกับย่านชิโมะคิตะซาวะที่มาทีไรก็สนุกเสมอ แม้จะไม่ได้เจอแผ่นเสียงซิตี้ป๊อปที่ถูกใจแต่ก็วางใจได้ว่าจะได้อะไรกลับไปแน่นอน กับข้อดีอีกอย่างที่สามารถแวะจิบกาแฟกับอาหารสักมื้อได้ด้วย
CITY COUNTRY CITY シティー カントリー シティ
ที่อยู่: 2-12-13 Kitazawa, Setagaya, Tokyo
เวลาทำการ: 12:00 – 1:00 น. (ปิดวันพุธ)
การเดินทาง: เดิน 2 นาทีจากสถานี Shimokitazawa (ทางออก South Exit)
Comments