“กิโมโน” แปลตรงตัวได้ว่า “สิ่งที่ใช้สวมใส่” และยังแบ่งออกเป็นกิโมโนหลายประเภทที่ใช้ต่างโอกาสกันไป
หากพูดถึงพื้นฐานของกิโมโน แน่นอนว่าต้องเป็นตัวชุดกิโมโนเองนี่แหละ ชุดกิโมโนมีหลากหลายสไตล์ ลวดลาย และสีสันที่เข้ากันกับฤดูกาล กิโมโนแต่ละประเภทจะมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่แตกต่างกันไปตามวัฒนธรรมและประเพณีญี่ปุ่น ไปดูกันเลยว่ามีกิโมโนแบบไหนบ้าง

1. ฟุริโซเดะ (振袖)

เริ่มต้นด้วย “ฟุริโซเดะ” ชุดกิโมโนแบบที่เป็นทางการมากที่สุด ส่วนใหญ่จะเป็นหญิงสาวที่ยังไม่แต่งงานสวมใส่กัน มีจุดสังเกตที่แขนของชุดซึ่งยาวถึง 100 – 107 ซม. บ่อยครั้งที่ฟุริโซเดะจะมีลวดลายฉูดฉาดดูเตะตา
ในฟุริโซเดะยังมีแบ่งประเภทออกไปอีก แต่ละแบบจะมีความยาวของแขนชุดต่างกัน โคะฟุริโซเดะ จะเป็นแบบแขนสั้น จูฟุริโซเดะ เป็นแบบแขนยาวระดับกลาง และโอฟุริโซเดะ มีแขนชุดยาวที่สุดจนเกือบจรดพื้น
โอฟุริโซเดะ (大振袖) เป็นฟุริโซเดะแบบที่เราเห็นได้บ่อยที่สุด และยังเป็นทางการมากที่สุดเช่นกัน มีการบุนวมในชุดซึ่งเพิ่มน้ำหนักและความทนทาน โดยปกติจะได้เห็นโอฟุริโซเดะบนนักแสดงในงานพิธีการ หรือบนเจ้าสาวในงานแต่งงานในฐานะชุดกิโมโนที่หรูหรามากที่สุด
จูฟุริโซเดะ (中振袖) กลายเป็นชุดที่นิยมในหมู่สาววัยรุ่น ต่างกับโอฟุริโซเดะตรงที่ไม่มีการบุนวมด้านใน ทำให้มีน้ำหนักเบาและเย็นสบายกว่า
โคฟุริโซเดะ (小振袖) ฟุริโซเดะแขนสั้น ใส่คู่กับกางเกงแบบทางการหรือฮากามะก็ได้ เทียบกับแบบอื่นแล้วโคฟุริโซเดะจะไม่ค่อยเห็นได้ทั่วไปนัก นักเรียนหญิงในยุคเมจิมักจะใส่โคฟุริโซเดะกับฮากามะและรองเท้าบูท

2. ฮิคิซึริ (引きずり)

ฮิคิซึริเป็นชุดของเหล่าหญิงชนชั้นสูงก่อนจะเข้าสู่ยุคเมจิ ในปัจจุบันแทบจะไม่เห็นตามท้องถนนแล้วนอกจากในเกียวโตหรือในเขตอาซากุสะ “ฮิคิซึริ” หมายถึง “กระโปรงต่อท้าย” หมายถึงการใส่กิโมโนให้ชายกระโปรงลากยาว เป็นชุดกิโมโนที่มีผ้าโบกพลิ้วอย่างสง่างาม
ฮิคิซึริต่างจากกิโมโนแบบอื่นตรงที่มักจะสวมใส่โดยเกอิชา ไมโกะ หรือนักแสดงการเต้นระบำญี่ปุ่นแบบดั้งเดิมเป็นหลัก ในโลกยุคปัจจุบันผู้หญิงมีโอกาสออกจากบ้านมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้เกิดเป็นสไตล์การใส่กิโมโนในปัจจุบันที่รวมถึงการพันผ้าอีกผืนรอบเอว

3. โทเมโซเดะ (留袖)

โทเมโซเดะเป็นกิโมโนแบบทางการสำหรับผู้หญิงที่แต่งงานแล้ว ลวดลายจะอยู่ต่ำกว่าเอวลงไปโดยเฉพาะ มีดีไซน์ที่สวยงามและบางครั้งมีส่วนประกอบของทองด้วย ในวัฒนธรรมตะวันตกกิโมโนแบบนี้จะเทียบเท่ากับชุดราตรีเลย บนชุดจะมีตราประจำตระกูล 3 หรือ 5 จุด และมีแบบหลากสีสันหรือสีดำ โทเมโซเดะสีดำหรือที่เรียกว่า “คุโระโทเมโซเดะ” จะสวมใส่โดยผู้หญิงแต่งงานแล้วเท่านั้น
ส่วนโทเมโซเดะสีสันหรือที่เรียกว่า “อิโระโทเมโซเดะ” อาจสวมโดยหญิงสาวที่ยังไม่แต่งงานก็ได้ กิโมโนแบบทางการประเภทนี้มักจะเห็นได้ตามงานพิธีการอย่างงานแต่งงาน หรือพิธีชงชา เรียกว่าเป็นหนึ่งในกิโมโนที่สวยที่สุดก็ว่าได้

4. โฮมงกิ (訪問着)

โฮมงกิคืออะไร? ถ้าแปลตรงตัวจะแปลว่า “ชุดใส่ไปเยี่ยม” เป็นกิโมโนแบบกึ่งทางการที่ใส่ได้ทั้งผู้หญิงที่แต่งงานแล้วและยังไม่ได้แต่งงาน โฮมงกิมีหลากสีสันและดีไซน์ ซึ่งเหมาะกับงานพิธีการหลายแบบ หรืองานเลี้ยงกึ่งทางการในบ้าน ลวดลายจะอยู่บนไหล่พาดไปถึงตะเข็บด้านหลัง รวมถึงบนแขนชุดและใต้เอว
ลวดลายแบบนี้ใช้เทคนิคที่เรียกว่า “เอบะ” ทำให้ลวดลายเหมือนภาพวาดขนาดใหญ่ที่ครอบคลุมกิโมโนทั้งชุด แม้จะมีประวัติศาสตร์มายาวนานแล้ว แต่ก็นับเป็นกิโมโนแนวใหม่เมื่อปรากฏในยุคไทโช

5. อิโระมุจิ (色無地)

อิโระมุจิเป็นกิโมโนที่มีสีพื้นและไร้ลวดลาย ความงดงามของอิโระมุจิคือความเรียบง่าย ไม่ฉูดฉาดเกินไป ทำให้ไม่เป็นการรบกวนงานที่ค่อนข้างเป็นทางการ หรือไม่สะดุดตาต่อแขกคนอื่นจนเกินงาม ถึงอย่างนั้นก็ใช่ว่าจะสวมอิโระมุจิกันในงานเศร้าโศกเท่านั้น เรามักจะได้เห็นอิโระมุจิตามงานเลี้ยงครอบครัวหรือพิธีจบการศึกษา หรือหากเป็นพิธีชงชาจะมีชุดอิโระมุจิสำหรับงานนี้โดยเฉพาะเลย ระดับความทางการจะขึ้นอยู่กับตราประจำตระกูลบนชุด

6. โคะมง (小紋)

คนญี่ปุ่นรู้จักโคะมงว่าเป็นกิโมโนแบบลำลอง เทียบกับกิโมโนแบบอื่นแล้วเราจะมีโอกาสได้เห็นโคะมงค่อนข้างบ่อย มีลวดลายแบบแพทเทิร์นประกอบกับลายทางแนวตั้ง แม้โคะมงจะตัดเย็บมาอย่างงดงาม แต่ต้องจำไว้ว่าห้ามใส่ไปงานทางการทุกรูปแบบ โดยปกติจะใส่กันเดินเล่นรอบเมือง หรืองานเลี้ยงฉลองเล็กๆ มากกว่า
ในอดีตชุดแบบนี้แหละที่ใส่กันทั่วไปมากที่สุดก่อนที่เสื้อผ้าตะวันตกจะเข้ามาแพร่หลายในญี่ปุ่น ลองนึกภาพถนนที่เต็มไปด้วยชาวเมืองที่ใช้ชีวิตในชุดโคะมงคงน่ารักน่าดูเลย

7. ยูกาตะ (浴衣)

กิโมโนผ้าฝ้ายที่มีน้ำหนักเบา หรือที่เรียกว่ายูกาตะนี้เหมาะที่สุดสำหรับฤดูร้อน เป็นเหตุผลว่าทำไมเราถึงได้เห็นยูกาตะกันบ่อยๆ ในช่วงเทศกาลฤดูร้อนนั่นเอง คนญี่ปุ่นจะมารวมตัวกันในงานเทศกาลท้องถิ่น หรือเทศกาลดอกไม้ไฟฤดูร้อนในชุดยูกาตะเป็นส่วนมากเสียด้วยซ้ำ ยูกาตะเป็นกิโมโนแบบลำลองที่ยอดนิยมที่สุดในหมู่กิโมโนทั้งหมด พูดได้ว่าถ้านึกถึงวัฒนธรรมญี่ปุ่น สิ่งหนึ่งที่หลายๆ คนนึกถึงคงเป็นชุดยูกาตะ ควบคู่มากับเทศกาลญี่ปุ่นด้วย เกตะ หรือรองเท้าไม้จะใส่คู่กับยูกาตะ มีโอบิพันรอบเอวในแบบเรียบง่าย วิธีที่ง่ายที่สุดที่จะได้มีประสบการณ์สวมยูกาตะคือการไปพักที่เรียวคังหรือออนเซ็นในญี่ปุ่น

8. ชิโระมุคุ (白無垢)

กิโมโนสำหรับเจ้าสาวในวันแต่งงานจะมีสีขาวบริสุทธิ์ ชื่ออย่างเป็นทางการของชุดนี้เรียกว่า “ชิโระมุคุ” สีขาวของกิโมโนนี้ย้อนไปถึงยุคแห่งซามูไร ในสมัยนั้นผู้หญิงจะแสดงความอ่อนน้อมต่อครอบครัวที่เธอจะแต่งงานด้วย จึงใส่สีขาวที่สื่อว่าจะกลมกลืนกับสีของครอบครัวเจ้าบ่าวได้อย่างราบรื่น จึงถือว่าชิโระมุคุนั้นมีความสัมพันธ์อย่างลึกซึ้งกับวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น นอกจากนี้ยังส่งเสริมความงดงามของเจ้าสาวในวันสุดพิเศษด้วย

9. กิโมโนสำหรับผู้ชาย

มีกิโมโนสำหรับผู้ชายด้วยเช่นกัน ความจริงแล้วในอดีตผู้ชายก็สวมกิโมโนทุกวัน แต่ปัจจุบันความนิยมก็ลดลงไป กิโมโนของผู้ชายจะมีความเรียบง่ายกว่าทั้งรูปแบบและสีสัน โดยเฉพาะแบบที่เป็นทางการมากที่สุด เป็นการผสมผสานฮากามะ (กางเกงกิโมโน) และฮาโอริ (เสื้อคลุมกิโมโน) สไตล์การแต่งกิโมโนของผู้ชายที่เห็นได้บ่อยที่สุดเรียกว่าคินากาชิ เป็นการสวมชุดกิโมโนแบบลำลอง ไม่ได้ใส่ฮากามะ และพันรอบเอวด้วยโอบิ

และกิโมโนแบบอื่นๆ อีกมากมาย

ประเภทของกิโมโนมีพัฒนาการมาตามกาลเวลา รวมถึงกฎเกณฑ์ในการสวมใส่ก็มีการอะลุ่มอล่วยมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้มีคนรุ่นใหม่ที่สร้างสรรค์กิโมโนจากผ้าแบบโมเดิร์น ผสมสานสีสันอันฉูดฉาดกับเครื่องประดับที่ไม่คุ้นเคย แม้แต่โอบิก็มีหลากหลายแบบมากยิ่งขึ้น ทีนี้ก็รู้จักกันคร่าวๆ แล้วว่ามีกิโมโนแบบไหนบ้าง ใครยังไม่เคยลองสวมก็อยากให้ลองดูสักครั้ง ไม่ว่าจะในโอกาสไหนก็จะมีกิโมโนประเภทที่เหมาะกับอุปนิสัยของเราเสมอ คงไม่มีวิธีไหนที่จะได้สัมผัสวัฒนธรรมญี่ปุ่นได้ดีเท่ากับสวมใส่เองแบบนี้แล้ว
Comments