โตเกียว ปี 1964: ทัศนียภาพในเมือง

ในปี 1959 โตเกียวได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกปี 1964 ณ ตอนนั้นโตเกียวยังแทบจะเรียกได้ว่าเป็นกลุ่มก้อนชุมชนแออัดที่ภายนอกถูกตกแต่งให้พอดูได้ เพราะอยู่ในช่วงที่ญี่ปุ่นกำลังดิ้นรนออกจากซากปรักหักพัง และผลกระทบจากสงครามโลกครั้งที่ 2 การจะเปลี่ยนภาพลักษณ์สู่เมืองหลวงอันไฮเทคที่เหมาะสมต่อการเป็นเจ้าภาพงานกีฬาที่ใหญ่ที่สุดในโลกภายในเวลา 5 ปีนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย แต่สำเร็จได้ในที่สุดด้วยเทคนิคอันเหนือชั้นแห่งวิศวกรรมโยธา ซึ่งตามมาด้วยค่าใช้จ่ายที่สูงเกินจินตนาการ แต่ก็คุ้มค่าเมื่อแลกกับการที่ประเทศต้องแขวนอยู่บนเส้นด้ายระหว่างสังคมโลก และเป็นตัวกำหนดชะตากรรมของญี่ปุ่นและเมืองหลวงในอนาคต
ฉันได้พูดคุยกับ Robert Whiting ผู้อาศัยในโตเกียวระหว่างโอลิมปิก 1964 และเป็นผู้เขียนหนังสือ Futatsu No Olympics: Tokyo 1964/2020 – หนังสืออัตชีวประวัติเกี่ยวกับโอลิมปิกในโตเกียว และมีกำหนดตีพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษในเดือนมกราคม 2021 – เขาได้แชร์ความเห็นเกี่ยวกับผลกระทบต่อโอลิมปิก 1964 และความคาดหวังต่อโอลิมปิก 2020
โรเบิร์ตมาถึงโตเกียวเป็นครั้งแรกในฐานะพลทหารจากกองทัพอเมริกาในปี 1962 “การก่อสร้างในยุคนั้นมันน่าทึ่งมาก” เขาว่า ณ ตอนนั้นเป็นช่วงเวลาแห่งการพัฒนาเมืองและเศรษฐกิจอย่างก้าวกระโดด ทำให้ได้เห็นภาพคนทำงานแห่กันเข้าเมืองอย่างเร่งรีบพร้อมความฝันอันยิ่งใหญ่สู่ความมั่งคั่ง โตเกียวในตอนนั้นเหมือนเป็นดินแดนอันอุดมสมบูรณ์แห่งตะวันออก โรเบิร์ตพูดอย่างไม่ลังเล “พลังงานของเมืองนี้ดึงดูดให้ผมอยู่ต่อ ผมอยากดื่มด่ำบรรยากาศแบบนี้ไปเรื่อยๆ ไม่มีวันหยุด”
Michimasa Soejima สมาชิกคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (ซ้าย) Count Henri II de Baillet- Latour ประธานคณะกรรมการโอลิมปิกสากลคนที่ 3 (ขวา) / หนังสือ The Organizing Committee of the XIIth Olympiad, รายงานเกี่ยวกับการทำงานของคณะกรรมการจัดงานโอลิมปิกปี 1940 ในโตเกียวจนถึงการยกเลิก, โตเกียว 1940
วิ่งคบเพลิงการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนปี 1964 ในโตเกียว ©Shinjuku Historical Museum

การสร้างเมืองระดับโลก

เมื่อเข้าสู่ปี 1960 โตเกียวยังขาดแคลนทรัพยากรเพื่อจัดงานกีฬาระดับโลก มีโรงแรม 5 ดาวเพียงแห่งเดียวเท่านั้น (โรงแรมอิมพีเรียลที่กำลังเก่าลงเรื่อยๆ) ระบบการกรองน้ำและของเสียที่ไม่เพียงพอ ปัญหาความสะอาดและหนูที่วิ่งไปทั่วเมือง โครงสร้างการคมนาคมที่ยังไม่พร้อม และยังมีปัญหาการขนส่งอื่นๆ 
โรเบิร์ตบอกว่า “ตอนที่โตเกียวได้รับเลือกเป็นเจ้าภาพงานโอลิมปิกในปี 1959 คนส่วนใหญ่คิดว่ามันบ้ามากที่จะจัดโอลิมปิกในญี่ปุ่นตอนนั้น” และก็ไม่ลืมที่จะพูดถึงการพัฒนาอันน่าทึ่งของเมือง “ในระยะเวลา 5 ปี (1959-1964) โตเกียวสร้างอาคารเพิ่มขึ้น 10,000 อาคาร โรงแรม 5 ดาวอีก 5 แห่ง รถไฟใต้ดินอีก 2 สาย รถรางจากสนามบิน (ฮาเนดะ) มาถึงในตัวเมือง และรถไฟชินคันเซ็นจากโตเกียวถึงโอซาก้า เป็นการพัฒนาครั้งยิ่งใหญ่ที่เปลี่ยนโตเกียวจากหน้ามือเป็นหลังมือ” โรเบิร์ตกล่าว
โตเกียวในปัจจุบัน
คบเพลิงโตเกียวโอลิมปิก 2020 / ©Tokyo 2020
คบเพลิงโตเกียวโอลิมปิก 2020 / ©Tokyo 2020

AkasakaMitsuke

อากะซากะมิตสึเกะ, อยู่ใกล้สะพานเบงเคบาชิ, ทางด่วนอยู่ระหว่างการก่อสร้างในปี 1964
อากะซากะมิตสึเกะในปัจจุบัน

หนทางสู่ความยิ่งใหญ่

ความยากลำบากที่สั่งสมจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้สร้างแผลไว้ในใจของผู้คนจวนจะถึงโอลิมปิก ฉันเลยถามโรเบิร์ตถึงความภูมิใจในชาติของผู้คน เมื่อการจัดงานโอลิมปิกในโตเกียวปรากฏขึ้นมากะทันหันในช่วงปี 1960 “ตอนแรกคนญี่ปุ่นไม่ต้องการโอลิมปิกหรอก; พวกเขาไม่คิดว่าโตเกียวพร้อมสำหรับมัน” เขาตอบ
จนกระทั่งพิธีเปิดโอลิมปิกมาถึง มีอะไรบางอย่างสัมผัสใจของผู้คน จนความกลัวได้แปรเปลี่ยนเป็นความภาคภูมิใจของชนชาติ โรเบิร์ตได้ดูพิธีเปิดโอลิมปิกจากการถ่ายทอดสด (พิธีเปิดโอลิมปิกที่ถูกถ่ายทอดสดไปทั่วโลกเป็นครั้งแรก) กับเพื่อนพ้องชาวญี่ปุ่น พลางเล่าว่าพวกเขาดูภาพในโทรทัศน์พร้อมน้ำตาที่เอ่อล้น งานพิธีเปิดครั้งนี้เป็นการบอกให้ทั่วโลกรู้ว่าญี่ปุ่นกลับมาอีกครั้งแล้ว

มุ่งสู่อนาคต: โตเกียวโอลิมปิก 2020

แม้จะเหลือเวลาอีกหลายเดือนกว่าจะถึงโตเกียวโอลิมปิก 2020 แต่โรเบิร์ตก็กระตือรือร้นสุดๆกับการกลับมาในครั้งนี้ “โอลิมปิก 2020 จะแสดงให้ผู้คนเห็นมุมมองอีกด้านของโตเกียว คนส่วนใหญ่อาจจะรู้จักโตเกียวแค่โตเกียวทาวเวอร์ หรืออาซากุสะ พวกเขายังไม่มีโอกาสได้รู้จักโอไดบะ กลางเมืองแห่งที่สองที่สร้างรอบอ่าวโตเกียว” เขาว่า “ผมเชื่อว่าโตเกียวเป็นเมืองที่เยี่ยมยอดที่สุดในโลกตอนนี้” ประโยคนี้ถูกยืนยันอย่างหนักแน่นจากชายผู้อาศัยในเมืองใหญ่มาแล้วทั่วโลก ตั้งแต่นิวยอร์ค ปารีส เจนีวา ลอสแอนเจลิส และสต็อกโฮล์ม เพื่อสนับสนุนความคิดนี้โรเบิร์ตยังเอ่ยถึงสถิติต่างๆที่โตเกียวยังนำประเทศอื่นอยู่อย่างคงเส้นคงวา: ค่า GDP, จำนวนบริษัทชั้นนำใน 500 อันดับของ Fortune, จำนวนร้านอาหารที่ได้ดาวมิชลิน, ความมีประสิทธิภาพของระบบการคมนาคม, อัตราการรู้หนังสือ และระดับความปลอดภัยในสาธารณะ
โรเบิร์ตก็บอกว่า “ผมว่าข้อดีอีกอย่างของโอลิมปิกครั้งนี้คือผู้คนจะตระหนักได้มากขึ้นว่าโตเกียวในปัจจุบันทันสมัยด้านเทคโนโลยีขนาดไหน วิวขอบฟ้าของที่นี่ก็สวยไม่แพ้ที่ไหนบนโลกอีกแล้ว” โรเบิร์ตยังคาดเดาอีกว่าการนำเสนอโตเกียวสู่ผู้ชมทั่วโลกในครั้งนี้จะส่งผลกระทบที่ดีต่อเศรษฐกิจในระยะยาวแม้จะมีต้นทุนที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เขาเล่าว่าการแข่งขันแรกจะถูกถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ 8K มีการสาธิตรถไฟแม็กเลฟ การนำเสนอรถยนต์ไร้คนขับ และหุ่นยนต์แปลภาษาสู่สายตาประชาชนในฐานะผลิตภัณฑ์ที่ถูกพัฒนาด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงในโตเกียว หลังจากนี้ญี่ปุ่นจะเดินหน้าโปรโมทสิ่งที่โรเบิร์ตเรียกว่า “Japan Brand” – ญี่ปุ่นที่นำเสนอประเทศตัวเองในฐานะผู้นำระดับโลกในอาณาจักรแห่งผู้บริโภคและเทคโนโลยี

สถานีชินากาวะ (Shinagawa Station)

สถานีชินากาวะกับสัญลักษณ์โตเกียวโอลิมปิก 1964
สถานีชินากาวะปัจจุบัน

Robert Whiting

Robert Whiting เกิดที่นิวเจอร์ซีและโตในแคลิฟอร์เนีย มาญี่ปุ่นเป็นครั้งแรกกับกองทัพอเมริกาในปี 1962 เป็นนักเขียนที่ประสบความสำเร็จด้วยหนังสือหลายเล่มเกี่ยวกับวัฒนธรรมญี่ปุ่นสมัยใหม่ ประกอบด้วย Tokyo Underworld, The Meaning of Ichiro, The Chrysanthemum and the Bat และหนังสือยอดขายอันดับหนึ่ง You Gotta Have Wa (ได้รับเลือกเป็นหนังสือประจำเดือน, เข้ารอบสุดท้ายรางวัล Casey Award, เข้าชิงรางวัล Pulitzer Prize) และเป็นหนึ่งในคณะกรรมการของสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศในญี่ปุ่นมาตลอด 4 ปี หนังสือเล่มล่าสุด Futatsu no Olympics ถูกตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ Kadokawa (ภาพซ้ายล่าง) และจะตีพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษในเดือนมกราคม 2021 ภายใต้ชื่อ Tokyo Junkie โดยสำนักพิมพ์ Stone Bridge press
Comments