รู้จักกับออนเซ็นให้มากขึ้น

วิธีการสนุกกับออนเซ็น

          ออนเซ็นจะเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ เหมือนกับสิ่งมีชีวิต มีทั้งแบบที่ตอนเย็นเป็นน้ำใสแต่เมื่อถึงเช้ากลับกลายเป็นสีน้ำนม แบบที่ปริมาณน้ำจะเพิ่มขึ้นเมื่อฝนตก แบบที่ความเข้มของกลิ่นกำมะถันจะต่างกันในแต่ละวัน หรือบางแห่งที่ว่ากันว่ายิ่งแม่น้ำใกล้เคียงมีปริมาณน้ำมากขึ้น แหล่งออนเซ็นจะผุดน้ำออกมาได้ดีขึ้นก็มีเช่นกัน
ออนเซ็นสีน้ำนม
ออนเซ็นสีใส
          จากสถิติของกระทรวงสิ่งแวดล้อมบอกว่าในญี่ปุ่นมีออนเซ็นทั้งหมด 3,185 แห่ง ส่วนแหล่งกำเนิดออนเซ็นมีทั้งหมด 27,671 แห่ง เท่ากับว่ามีน้ำร้อนผุดขึ้นมาราว 2,680,000 ลิตรต่อนาที แหล่งออนเซ็นแต่ละแห่งก็ให้กำเนิดน้ำร้อนที่แตกต่างกัน และแม้จะกำเนิดจากแหล่งเดียวกัน ก็เป็นไปได้ว่าจะเปลี่ยนแปลงไปตามปัจจัยต่างๆ อย่างฤดูกาลหรือสภาพอากาศ เพราะฉะนั้นออนเซ็นที่เราได้เจอในแต่ละวัน อาจจะเป็นการพบกันครั้งแรกและครั้งเดียวในชีวิตก็ว่าได้ เหมือนเป็นของขวัญจากโลกที่เดินทางจากสวรรค์มาถึงพื้นดิน จนสุดท้ายถูกมอบให้เรานั่นเอง

ขั้นตอนการแช่น้ำจากเซียนออนเซ็น

1. ดื่มน้ำเพิ่มความชุ่มชื้นให้ร่างกาย
ก่อนลงออนเซ็นให้ดื่มน้ำ 1 แก้ว เพราะตอนเราแช่น้ำเหงื่อจะเริ่มออก เลือดก็จะเริ่มหนืดขึ้น จึงจำเป็นต้องเติมความชุ่มชื้นให้ร่างกายก่อน
2. คาเคะยุ (ล้างตัวด้วยน้ำร้อน)
ล้างตัวด้วยน้ำร้อน เรียกว่า “คาเคะยุ” ให้ตักน้ำในอ่างมาล้างตัวให้เรียบร้อย ตามลำดับเริ่มจากบริเวณขาที่อยู่ไกลหัวใจที่สุด ค่อยๆ ล้างมาจนถึงหัวใจ
3. ฮันชินโยะคุ (ลงแช่น้ำครึ่งตัว)
และแล้วก็ถึงเวลาลงออนเซ็น ขั้นแรกให้ลงแช่แค่ครึ่งตัว เรียกว่า “ฮันชินโยะคุ” หรือให้นั่งลงไปแล้วน้ำร้อนขึ้นมาถึงบริเวณใต้อกนั่นเอง เป็นวิธีที่จะทำให้ร่างกายเริ่มอบอุ่นจากแกนกลาง ป้องกันไม่ให้เกิดอาการ “ยุซาเมะ” หรือหมายถึงการที่ร่างกายเย็นลงกว่าปกติหลังจากแช่ออนเซ็น ซึ่งเกิดจากการเปลี่ยนกะทันหันของอุณหภูมิในร่างกาย
4. เซ็นชินโยะคุ (ลงแช่น้ำเต็มตัว)
พอแช่น้ำครึ่งตัวได้ประมาณหนึ่งแล้วก็ลงแช่แบบเต็มตัว เรียกว่า “เซ็นชินโยะคุ” หรือให้น้ำขึ้นมาถึงบริเวณไหล่ เวลาในการแช่ออนเซ็นแตกต่างกันไปตามความชอบส่วนตัวและอุณหภูมิของน้ำร้อน แต่แช่นานเกินไปก็ไม่ดีเหมือนกัน
5. อาการิยุ (ล้างตัวอีกครั้งหลังขึ้นจากออนเซ็น)
การล้างตัวอีกรอบเป็นขั้นตอนสุดท้าย แต่ส่วนใหญ่หลายคนจะข้ามขั้นตอนนี้กันไป “อาการิยุ” คือน้ำร้อนที่ใช้สำหรับล้างตัวหลังขึ้น
จากออนเซ็น จึงเป็นน้ำร้อนที่ปรับอุณหภูมิให้เข้ากับร่างกายทุกคน ประเภทของอาการิยุจะแตกต่างกันไปตามออนเซ็นแต่ละแห่ง บางแห่งก็ใช้น้ำออนเซ็น บางแห่งใช้น้ำประปาหรือน้ำบาดาลที่นำมาต้ม
เมื่อล้างตัวด้วยอาการิยุแล้วแร่ธาตุที่หลงเหลือบนผิวก็จะถูกล้างออกไปด้วย เพราะฉะนั้นจึงเหมาะกับผิวที่บอบบางแพ้ง่าย เช่นออนเซ็นที่มีกำมะถันเข้มข้น หลังแช่แล้วก็ควรล้างตัวสักหนึ่งรอบ
6. ดื่มน้ำเพิ่มความชุ่มชื้นให้ร่างกาย
หลังขึ้นจากออนเซ็นแล้วก็ควรจะดื่มน้ำหรือชา เพื่อเติมความชุ่มชื้นให้ร่างกายอีกครั้ง แต่ไม่รวมเบียร์นะ
7. พักผ่อน
ที่เหลือก็แค่พักผ่อนให้สบายเป็นอันเสร็จสิ้น
          ครั้งนี้เราได้เรียนรู้คำศัพท์เฉพาะเกี่ยวกับออนเซ็นถึง 5 คำ “คาเคะยุ” “ฮันชินโยะคุ” “เซ็นชินโยะคุ” “ยุซาเมะ” และ “อาการิยุ” แค่คำศัพท์เท่านี้เราก็เข้าใกล้การเป็นเซียนออนเซ็นแล้ว อยากเชิญชวนให้ทุกคนลองไปแช่ออนเซ็นให้ผิวเปล่งปลั่งกันนะ

คำศัพท์ออนเซ็น

♦ 掛け湯 (kakeyu) – คาเคะยุ
การชำระล้างร่างกายให้สะอาด ในขณะเดียวกันก็ทำให้ร่างกายคุ้นชินกับอุณหภูมิของน้ำออนเซ็นด้วย
♦ 半身浴 (hanshinyoku) – ฮันชินโยะคุ
การแช่น้ำครึ่งตัว เป็นวิธีการแช่น้ำให้น้ำขึ้นมาถึงบริเวณใต้อกเท่านั้น
♦ 全身浴 (zennshinyoku) – เซ็นชินโยะคุ
การแช่น้ำเต็มตัว เป็นวิธีการแช่น้ำให้น้ำขึ้นมาถึงบริเวณไหล่
♦ 湯冷め (yuzame) – ยุซาเมะ
อาการที่ร่างกายเย็นลง คนญี่ปุ่นเชื่อว่าหลังจากแช่ออนเซ็นแล้ว ถ้าร่างกายเย็นจะทำให้เป็นหวัดง่าย ว่ากันว่าออนเซ็นทำให้เกิดอาการยุซาเมะยากกว่าการแช่น้ำร้อนทั่วไป
♦ 上がり湯 (agariyu) – อาการิยุ
น้ำร้อนที่ใช้ล้างตัวเป็นขั้นตอนสุดท้ายหลังขึ้นจากออนเซ็น
 
ผู้เขียน: นิชิมุระ ริเอะ
นักเขียนเกี่ยวกับบ่อน้ำพุร้อนออนเซ็น ทำงานเป็นนักเขียนฟรีแลนซ์ เผยแพร่เรื่องราว และเสน่ห์ของออนเซ็นมานานกว่า 20 ปีแล้ว หวังว่าทุกคนจะตกหลุมรักออนเซ็นมากขึ้น!
Comments