ทำความรู้จักกับออนเซ็น

ความจริงแล้วออนเซ็นคืออะไรกันนะ? 

          บ่อน้ำพุร้อนจะถูกตัดสินว่าเป็นออนเซ็นด้วยข้อกฏหมาย “ออนเซ็นโฮ” ออนเซ็นจะต้องมีคุณสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่งภายใต้เงื่อนไขต่อไปนี้ ต้องเป็นน้ำร้อนที่ผุดจากใต้ดิน หรืออุณหภูมิต้องสูงกว่า 25 องศาเซลเซียส ในน้ำร้อน 1 กิโลกรัมจะต้องมีแร่ธาตุมากกว่า 1 กรัม รวมถึงแร่ธาตุ 18 ชนิด เช่น ธาตุเหล็กและกำมะถันจะต้องมีปริมาณตามที่กำหนด เมื่อพูดถึงออนเซ็นหลายคนคงนึกถึงน้ำร้อนทั่วไป แต่พอได้รู้จักกับออนเซ็นโฮก็คงเข้าใจมากขึ้นแล้วว่าออนเซ็นต่างจากน้ำร้อนธรรมดาอย่างไร
          ถ้าบ่อน้ำพุร้อนมีอุณหภูมิสูงกว่า 25 องศาเซลเซียสก็สามารถเรียกได้แล้วว่าเป็นออนเซ็น หรือถึงจะอุณหภูมิต่ำกว่า 25 องศาเซลเซียส แต่ถ้ามีแร่ธาตุตามปริมาณที่กำหนดก็ถือเป็นออนเซ็นได้เช่นกัน แปลว่าในโลกนี้ก็ยังมีออนเซ็นน้ำเย็นอยู่จำนวนไม่น้อยเลย ส่วนใหญ่ออนเซ็นน้ำเย็นจะใช้วิธีอุ่นให้ร้อนก่อนแล้วเทลงในอ่างอาบน้ำ แต่บางแห่งก็ให้แช่ทั้งที่น้ำเย็นแบบนั้นเลย ที่ Kan no Jigoku Onsen ในจังหวัดโออิตะ ก็เช่นกัน ออนเซ็นที่นี่ประกอบด้วยไฮโดรเจนซัลไฟด์และมีอุณหภูมิเพียง 13 องศาเซลเซียส  พอแช่แล้วร่างกายจะเริ่มเย็น หนาวถึงขั้นตัวสั่นหงึกๆ เลยทีเดียว พอขึ้นจากออนเซ็นแล้วก็มีห้องที่อุ่นด้วยเตาผิงเตรียมไว้ให้ได้อบอุ่นร่างกาย วิธีนี้เป็นวิธีการแช่น้ำในสมัยก่อนนั่นเอง อาจจะดูเป็นวิธีการแช่ออนเซ็นที่สุดเหวี่ยง แต่ก็มีหลายคนที่แวะเวียนมาเพราะเชื่อว่าดีต่อสุขภาพ
Koma no Yu Onsen
Ootsuka Onsen
          ออนเซ็นบางแห่งมีทั้งออนเซ็นน้ำเย็น และออนเซ็นน้ำร้อนให้ลงแช่สลับกันด้วย เมื่อทำแบบนี้เส้นเลือดฝอยจะขยายและหด ทำให้ดีต่อการไหลเวียนโลหิต จนเมื่อแช่เสร็จร่างกายจะอบอุ่นอย่างพอดิบพอดี เป็นวิธีการยอดนิยมในหมู่คนที่ตัวเย็นนั่นเอง หรือ Koma no Yu Onsen ในจังหวัดนีงาตะ และ Ootsuka Onsen ในจังหวัดกุนมะ ยังถูกเรียกว่าเป็น “น้ำร้อนแห่งกลางคืน” เพราะว่ากันว่ามีคนที่มีแผลไฟไหม้มาแช่น้ำตลอดทั้งคืน ยังมีวิธีการแช่น้ำอีกหลากหลายแบบที่ปรับให้เข้ากับประเภทของออนเซ็น ทั้งออนเซ็นน้ำเย็น และออนเซ็นน้ำร้อน

ส่วนประกอบของออนเซ็น

บางคนอาจคิดว่าออนเซ็นคือน้ำร้อนเข้มข้นที่เต็มไปด้วยแร่ธาตุหลายชนิด แต่ความจริงแล้วแค่มีอุณหภูมิสูงกว่า 25 องศาเซลเซียส แม้น้ำจะใสแค่ไหนก็เรียกได้ว่าเป็นออนเซ็นแล้ว จึงไม่สามารถตัดสินได้ว่าแบบไหนดีกว่ากัน น้ำออนเซ็นของ Yu no Sawa Onsen ที่จังหวัดอากิตะ มีแร่ธาตุเพียง 153 มิลลิกรัม ต่อ 1 กิโลกรัม ส่วนบ่อน้ำพุร้อน Tenjin Sengen ใน Arima Onsen เมืองโกเบ ที่ได้ชื่อว่ามีน้ำออนเซ็นที่เข้มข้นที่สุดในญี่ปุ่น ก็มีแร่ธาตุเพียง 1 ใน 400 ส่วนเท่านั้นเอง แต่ถึงแม้จะอยู่ลึกในภูเขา ที่นี่ก็ยังโด่งดังว่า “เหมาะกับผิวเด็ก” บ้าง “ถ้าดื่มแล้วกระเพราะอาหารจะดีขึ้น” บ้าง จึงมีลูกค้าขาประจำมาเยือนอยู่บ่อยๆ  แถมยังว่ากันว่าน้ำออนเซ็นของที่นี่ใสขนาดที่ว่า “แม้เข็มแท่งเดียวตกลงไปก็ยังมองเห็น” จึงเป็นออนเซ็นที่นิยมมากในหมู่คนท้องถิ่น
Yu no Sawa Onsen
Tenjin Sengen (Arima Onsen)

ความลับของคาเคะนางาชิ

          “คาเคะนางาชิ” คือระบบของออนเซ็นอย่างหนึ่งที่จะมีท่อคอยเติมน้ำใหม่อยู่ตลอด ส่วนน้ำที่ล้นออกนอกอ่างอาบน้ำจะถูกปล่อยทิ้งไปไม่ไหลเวียนกลับมาใช้อีก มีคำวิจารณ์แตกไปหลากหลายทิศทางที่บอกว่า “คาเคะนางาชิออนเซ็นดีกว่า” หรือไม่ก็ “ออนเซ็นน่ะห้ามเติมน้ำใหม่นะ” แต่ความจริงแล้วการจะมองว่าออนเซ็นดีหรือไม่ดีนั้นไม่ได้ตัดสินกันง่ายขนาดนั้น
          น้ำออนเซ็นเกิดจากธรรมชาติ และใช้เวลาไหลเวียนอยู่ภายใต้ท้องฟ้าในพื้นโลกและใต้ดิน เริ่มจากฝนที่ตกลงมาซึมสู่ใต้ดินจะถูกให้ความร้อนจากหินหนืด แร่ธาตุต่างๆ ที่อยู่ในดินจะซึมซับเข้าไป ผสมกับน้ำใต้ดินและน้ำทะเล จนผุดออกมาตามรอยแยกบนผืนดิน นั่นคือออนเซ็นนั่นเอง เพราะฉะนั้นในปัจจุบันก็พูดได้ไม่เต็มปากหรอกว่าเติมน้ำใหม่ในออนเซ็นไม่ดี หรือออนเซ็นที่ใช้ระบบหมุนเวียน (นำน้ำที่ใช้แล้วมากรองและรีไซเคิลใช้ใหม่) นั้นไม่ใช่ออนเซ็นของจริง
Nishimura Rie
 
ผู้เขียน: นิชิมุระ ริเอะ
นักเขียนเกี่ยวกับบ่อน้ำพุร้อนออนเซ็น ทำงานเป็นนักเขียนฟรีแลนซ์ เผยแพร่เรื่องราว และเสน่ห์ของออนเซ็นมานานกว่า 20 ปีแล้ว หวังว่าทุกคนจะตกหลุมรักออนเซ็นมากขึ้น!
Comments